มองหนังไทย ไปต่อไม่รอดจริงหรือ ??

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวๆ หนึ่งที่มันค่อนข้างสะดุดตาคอหนังหลายๆ คนทั่วกรุงเทพ คือ การแถลงข่าว การ Go to 200 ล้าน ของ หนังไทยที่นักวิจารณ์หลายๆ เจ้า(ไม่)ปลื้ม อย่าง 'ส่ม ภัค เสียน' ที่สร้างปรากฏการณ์คนดูแน่นแทบทุกโรงทุกรอบทั่วภาคอีสาน ทั้งๆ ที่เราอยู่ในกรุงเทพเองยังรู้แค่ว่ามีหนังเรื่องนี้เข้าฉายเท่านั้น อะไรคือสิ่งที่ทำให้เหนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จมากเกินคาด จึงน่าจะเป็นคำถามที่ใครหลายๆ คงอยากจะได้คำตอบไม่ต่างกัน
หนังไทย ไม่เป็นหนังรัก หนังวัยรุ่น ก็หนังผี หรือหนังตลก
ทุกวันนี้ เวลาที่ใหม่จะเข้าโรง เราก็มักจะได้เห็นว่าทุกค่ายนั้นทำการตลาดแค่เพียงเฉพาะกลุ่มคนดูในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูงมาก ทั้งเรื่องความหลากหลายคนผู้คน ไปจนถึงเรื่องของการจัดโรง จัดรอบของโรงหนังขนาดใหญ่ที่มักให้ความสำคัญกับหนังฝรั่ง หรือหนังค่ายใหญ่ๆ ในบ้านเรามากกว่า ส่วนนายทุนหนัง ก็จะชอบดูหนังที่ประสบความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้บ้านเรามีแต่หนังรัก ไม่ก็หนังวัยรุ่น หนังตลก หรือไม่ก็หนังผี พอทำออกมาได้ไม่ถึงเป้าที่คนดูตั้งไว้ หนังไทยก็ตายเรียบ แต่พอหนังเรื่อง 'ส่ม ภัค เสี่ยน' ออกมาโปรโมท ก็แทบจะเทและไม่ทำการตลาดกับคนดูที่อยู่ในกรุงเทพฯ เลย (ขนาดว่างานแถลงข่าวยังไปจัดที่โคราช นครราชสีมา) ถ้ามองจากความเป็นจริง ตลาดอีสานก็นับเป็นอีกพื้นที่ที่น่าสนใจและน่าจับมอง อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีเสน่ห์ ดูน่าสนใจมากกว่าตลาดกรุงเทพฯ เสียด้วยซ้ำ
กรุงเทพฯ เมืองแห่งโอกาส จริงหรอ
จริงๆ เราก็มีโอกาสได้เห็นบทเรียนต่างๆ จากหนังไทยหลายเรื่อง มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและเป็นผู้พ่ายแพ้ในสมรภูมินี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการตลาดล้วนๆ หลายคนคิดว่าหนังจะดี หรือไม่ดีส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผู้ชมเป็นคนเลือกก็จริง แต่การตลาดจะช่วยให้คนดุได้เห็นมุมต่างๆ ของหนัง และเข้าถึงหนังแต่ละเรื่องได้ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปดู เมื่อดูจากบทเรียนของค่ายหนังใหญ่ๆ ในบ้านเรา อย่าง GDH เอง ใช้การสื่อสารแทบจะโดยตรงต่อคนกรุงเทพฯ อย่างได้ผล เพราะหนังแต่ละเรื่องที่ผลิตออกมามีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน อย่าง การเปิดเรื่องด้วยการเล่าถึงตึกร้างสาธร ใน 'เพื่อน..ที่ระลึก' ซึ่งเน้นการสื่อสารกับคนในกรุงเทพฯ พอหนังเรื่องอื่นๆ ลองนำโมเดลนี้ไปใช้บ้าง แต่พวกเขากลับไม่ได้รู้จักกับคนดูของตัวเองจริงๆ จึงเหมือนว่าการสื่อสารนั้นไปไม่ถึงคนดู แถมยังทุ่มงบประมาณแบบละลายแม่น้ำไปกับการโปรโมทในทุกช่องทางที่แสนแพงในพื้นที่กรุงเทพฯ เมืองที่เต็มไปด้วยโอกาส แต่อาจกลายเป็นจุดจบหากว่าก้าวพลาด
เมื่อมูลค่า เป็นตัวกำหนดคุณค่า
เราต่างก็ตื่นเต้นไปกับการลุ้นผลการประเมินรายได้ของหนังประจำสัปดาห์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างกระแสให้กับคนทั่วไปตัดสินใจมาดู และยังเป็นตัวชี้ชะตาด้วยว่าหนังแต่ละเรื่องนั้นควรอยู่ หรือไป จากที่เราได้เห็นหนังไทยบางเรื่อง หรือหลายๆ เรื่อง เพียงแค่เข้าฉายได้ 3 วันก็ถูกลดรอบ ลดโรง และออกจากโรงภายในเวลาไม่นาน โดยไม่ได้สนว่าตัวหนังนั้นจะสร้างมุลค่าได้มากเท่าไหร่ ยึดแค่เพียงยอดจาก Box Office จาก 2 โรงหนังเจ้าใหญ่ในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ที่เป็นตัวกำหนดคุณค่าของหนังไทยที่เข้าฉายมาเป็นเวลานานแล้ว
แต่ในวิกฤตที่ผู้ผลิตตกที่นั่งลำบากแบบนี้ ก็พอที่จะมองเห็นหนังไทยบางเรื่องเข้าฉายในแบบที่ทำรายได้ไปพอสมควร โดยมีวิธีการสื่อสารที่ถูกกลุ่ม อย่าง 'พี่ชาย (My Bromance)' ของ ณิชชี่ ณิชภูมิ ชัยอนันต์ จนทำให้เกิดการยืนโรงไปตลอดเดือนกุมภาพันธ์ที่หนังเข้าฉาย นับเป็นการเริ่มยุคของหนังเฉพาะกลุ่มที่มีมากขึ้น การสื่อสารของหนังเรื่อง 'พี่ชาย' เกิดจากฐานผู้ชมเฉพาะกลุ่มที่เรียกได้ว่าแทบไม่ได้โปรโมทผ่านสื่อใหญ่ๆ เลย แต่กลับทุ่มสรรพกำลังลงไปที่ผู้ชมโดยตรง เป็นหนังไทยค่ายเล็ๆ ที่สร้าง Facebook Engagement ได้ ทำให้เกิดกระแสบอกต่ออย่างกว้างขวาง ต่อมาจากเรื่องพี่ชาย สู่หนังเรื่อง 'ผู้บ่าวไทบ้าน (อีสานอินดี)' กลุ่มคนทำหนังอินดี้อีสาน ที่ตัวหนังเองทำมาเพื่อคนอีสาน และเลือกที่จะสื่อสารกับคนอีสานโดยตรง
ส่ม ภัค เสียน
ส่วนหนังอีกเรื่องที่ตอนนี้ก็น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว อย่าง อย่าง 'ส่ม ภัค เสี่ยน' ดูจากการจัดงานแถลงข่าว แทนที่จะจัดอย่างยิ่งใหญ่ เชิญสื่อในกรุงเทพฯ มาให้มากๆ แต่กลับเชิญสื่อขึ้นรถตู้ที่ใช้เวลาเดินทางกว่า 3 ชั่วโมง มุ่งหน้าสู่โคราช นครราชสีมา ประตูสู่ภาคอีสาน โดยฐานหลักของเรื่องนี้ได้มีการดึงเอาดารานักแสดงที่เป็นขวัญใจชาวอีสานมาร่วมแสดงกันอย่างคับคั่ง เรียกว่าเป็นการวางกลยุทธ์ในการทำหนังและสื่อสารตัวเองได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา ทำให้ตัวหนังสามารถทำรายได้จากคนภาคอีสานเป็นหลัก ซึ่งจริงๆ แล้วคนอีสานเหล่านั้นก็เข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่น้อยเลยทีเดียว
และนี่ก็คือบทเรียนสำคัญของคนทำหนัง ที่ไม่ใช่แค่การทำหนังดีๆ ออกมาให้เราได้ดู แต่อาจจะต้องเลือกการสื่อสารให้ถูกกลุ่มคนดูด้วย ต้องรู้ว่าหนังของตัวเองเป็นอย่างไร และยิ่งต้องรู้ว่าหนังเรื่องนี้ใครเป็นคนดู ก็จะยิ่งสร้างความรู้สึกร่วมในการดูหนังให้เกิดขึ้นได้ เชื่อว่ายังไงถ้าเป็นอย่างที่บอกมา ก็มีคนพร้อมที่จะออกไปดูหนังเรื่องนั้นๆ เป็นแน่
 
MORE READ
COMMENT