พาไปรู้จัก 'คานส์' เทศกาลหนังที่มีมากกว่าเรื่องราว

Talkative
หากจะเอ่ยถึงเทศกาลหนังเมืองคานส์ ไม่ใช่ทุกคนบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทยจะรู้จักกันไปซะหมด ถ้าไม่ใช่คอหนัง สร้างหนัง หรือชอบเสพเรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์เป็นชีวิตจิตใจ คานส์ ถูกรู้จักกันมากขึ้นก็ตอนที่นางเอกสาว อย่าง ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต ได้มีโอกาสไปร่วมงาน พร้อมกับเปิดตัวด้วยการเดินบนพรมแดงซึ่งเอกลักษณ์สำคัญของเทศกาลหนังระดับโลกนี้ ในฐานะของแบรนด์พรีเซนเตอร์ ลอรีอัล ปารีส ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักของเทศกาลหนังนี้มาตั้งแต่ปี 1997 และเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี 2018 นี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 พฤษาคม ไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2018
เทศกาลหนังเมืองคานส์ นับว่าเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ถูกจัดขึ้น มีอายุเก่าแก่มากที่สุดในโลกเทศกาลหนึ่ง จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1946 โดยการผลักดันของ ฌอง เซย์ (Jean Zay) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวิจิตรศิลป์แห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส เป็นชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยตร์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเทศกาลหนังเมืองคานส์นี้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1931 แต่ด้วยภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ทำให้งานนี้ต้องจัดใหม่ในปี 1946 ซึ่งล่าช้ากว่าเวลาในแผนที่ได้วางไว้ถึง 14 ปี เมื่อครั้งแรกที่เริ่มจัด มีภาพยตร์เข้าฉายรวม 16 เรื่อง จาก 16 ประเทศทั่วโลก

ทำไมจึงต้องจัดเทศกาลหนังเมืองคานส์

เทศกาลหนังเมืองคานส์นับเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ทั้งยังมีความตั้งใจที่จะทำให้เมืองเล็กๆ อย่างเมือง 'คานส์' กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีความยิ่งใหญ่และสำคัญมากที่สุดในโลก นอกจากจะมีการประกวดภาพยนตร์และฉายภาพยนตร์แล้ว ก็ยังมีการมอบรางวัล การเดินพรมแดง ตลาดภาพยนตร์ (March? du Film) เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ที่สร้างภาพยนตร์ (Producer) และผู้ขาย (Sales Agent) มีโอกาสได้มาพบปะ พูดคุยกันเรื่องซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ตลอดระยะเวลาที่มีการจัดเทศกาลหนังเมืองคานส์นั้นมีการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีผู้คนให้ความสนใจติดตามและมาร่วมงาน ทั้งจากสื่อมวลชนเองและค่ายหนังต่างๆ ทั่วโลก

'ปาล์มทองคำ' รางวัลการันตีคุณค่าของงานเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์

สำหรับรางวัลที่ได้มีการมอบให้ในเทศกาลหนังเมืองคานส์นี้ ก็คือรางวัล 'ปาล์มทองคำ' โดยจัดเป็นรางวัลสูงสุดของงานเทศกาลหนังเทศกาลนี้ มีหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาคุณค่าของภาพยนตร์ในแง่ของศิลปะ ซึ่งบรรดารายชื่อของภาพยนตร์ที่เข้าในชิงรางวัลนี้นั้น หลายๆ อาจไม่เคยได้ยินชื่อ หรืออาจไม่เคยได้เห็นมาก่อนสำหรับคนที่ดูหนังกระแสหลัก ยกตัวอย่างประเทศไทย ภาพยตร์ที่เคยได้รับรางวัลปาล์มทองคำมีอยู่หลายเรื่อง อาทิ ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) จากผู้กำกับ เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เมื่อปี 2010 แต่ก่อนหน้านั้นเขาก็เคยร่วมประกวดและได้รับในหลายๆ รางวัลมาแล้ว เช่น Un Certain Regard กับ สุดเสน่หา (Blissfully Yours) เมื่อปี 2002 ในสายประกวดรอง และ สัตว์ประหลาด (Tropical Malady) ได้รับรางวัล Jury Prize (Prix du Jury) เมื่อปี 2004 โดยรางวัลมีความสำคัญเป็นอันดับที่ 3 ของเทศกาลหนังเมืองคานส์

แลนมาร์คสำคัญ อย่าง 'พรมแดง' ที่ใครๆ ก็ให้ความสนใจ

เมื่อสื่อมวลชนต้องเดินทางมาข่าวที่เทศกาลหนัง จุดแรกที่พวกเขาจะให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ 'พรมแดง' เพราะเหมือนเป็นพื้นที่ทางการตลาดที่บรรดาสปอนเซอร์ หรือแบรนด์สินค้าหลักที่สนับสนุนงานเทศกาลหนังจะได้มากรุยกรายสร้างความรู้จักและประชาสัมพันธ์งานให้มีชื่อเสียงออกไปทั่วโลก อย่าง ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต ก็เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลทางด้านความงามก็ได้มีโอกาสไปเดินบนพรมแดงนี้ ทำให้เธอถูกพูดถึงไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก

'คานส์' จากเมืองเล็กๆ สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยว

หากหลายคนยังไม่รู้ ก่อนที่เมืองคานส์จะกลายเป็นสถานที่จัดเทศกาลหนังชื่อดังระดับโลกเหมือนอย่างทุกวันนี้ ยังเป็นแค่เมืองที่มีผู้คนทำอาชีพประมงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่พอการมาถึงของเทศกาลหนังเมืองคานส์ ก็ทำให้ผู้คนรู้จักและคุ้นหูกับชื่อของเมืองนี้ไปอย่างกว้างขวาง จากที่ผู้คนต้องจับปลาหาของทะเล กลายมาเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์แบบ ปีๆ หนึ่งจะมีผู้คนแวะเวียนเดินทางมาท่องเที่ยวที่เมืองนี้ราวๆ 2 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจเติบโต เป็นเมืองที่นักธุรกิจชอบที่จะเดินทางมาเจรจาธุรกิจกันตามงานอีเวนต์ และเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีบรรยากาศดี นักท่องเที่ยวชอบที่จะมานอนพักผ่อมริมทะเลกันในช่วงพักร้อน
MORE READ
COMMENT