มุมมองของ 'กูรูฟินแลนด์' กับ โรงเรียนขนาดเล็กในไทย

Talkative

หากพูดถึงเรื่องราวทางการศึกษา “ประเทศฟินแลนด์” ก็เป็นประเทศที่มีอันดับของการศึกษาอยู่ในระดับต้นๆ ของโลกมาโดยตลอด ซึ่งปัจจัยที่สำคัญ คือ การอ่านออกเขียนได้ของประชาชนทั่วประเทศ ชาวฟินแลนด์สามารถทำให้คนในประเทศตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา แล้วสำหรับประเทศไทย จะสามารถนำโมเดลสร้างการเรียนรู้แบบฟินแลนด์มาใช้ในโรงเรียนของเราได้จริงๆหรือ ? วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์ของครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาประเทศฟินแลนด์ มาร่วมแบ่งปันมุมมองในการพัฒนาการศึกษา กับคุณครูจากโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ ในงานครูนักส่งเสริมการอ่าน รุ่นที่ 8 ณ โรงเรียนดรุณสิกขาลัย เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 ที่ผ่านมาให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ

เริ่มที่คำถามแรกกับประเด็นที่เราใช้เสวนาในวันนี้เลยครับ “การศึกษาแบบฟินแลนด์สามารถใช้กับประเทศไทยได้จริงหรือ?”

จุ๊ยคิดว่าถ้าเกิดเราเข้าใจกระบวนการ วิธีคิดแบบฟินแลนด์ เราก็สามารถนำมาปรับกับอะไรก็ได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ การเข้าใจในหลักการว่าฟินแลนด์เขามองการอ่านว่าอย่างไร แล้วหลักในการจัดกิจกรรมของเขาเป็นอย่างไร แน่นอนว่ากิจกรรมที่เราจะจัด ก็จะเป็นกิจกรรมในแบบของเรา จุ๊ยคาดหวังให้เราสร้างสรรค์กิจกรรมในแบบของตัวเองในที่สุด ไม่จำเป็นจะต้องเป็นแบบฟินแลนด์ทุกอย่างอยู่แล้ว เพราะจุ๊ยไม่เชื่อในการ Copy&Paste มาทั้งโมเดล

อย่างนี้คุณครูจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการออกแบบกิจกรรมด้วย ?

คุณครูจะต้องทำการบ้านเพิ่มเติม อย่างแรกที่คุณครูจะต้องทำแน่ๆเลยคือการไปสำรวจว่าเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง เราสะดวกทำอะไรบ้าง แล้วก็ค่อยออกแบบวางแผนสิ่งเหล่านี้ หรือถ้าคุณครูพบว่าเรายังขาดส่วนใหนบ้าง คุณครูอาจจะต้องเป็นการบ้านต่อว่าเราจะหาสิ่งเหล่านี้เพิ่มเติมได้จากที่ไหนบ้าง ในชุมชนมีหรือป่าว

แสดงว่าโรงเรียนที่ฟินแลนด์จะบูรณาการกันทุกภาคส่วน ตั้งแต่โรงเรียน ชุมชน สังคม พ่อแม่ผู้ปกครอง ?

ทุกๆคนมีบทบาทหมด เป็นเจ้าของการศึกษาร่วมกัน

อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่ฟินแลนด์รู้สึกเป็นเจ้าของการศึกษาร่วมกันได้ ?

ทุกคนเห็นความสำคัญของการศึกษา เมื่อเราเห็นความสำคัญ เราก็จะยินดีลงทุนและลงแรงใส่ใจในการทำทุกอย่าง พอเห็นความสำคัญแล้ว เขาก็เห็นเป้าหมายร่วมกันอีกว่าการศึกษามีเป้าหมายแบบใดเขามองเห็นอนาคตแบบใด แล้ววิธีที่จะเดินทางไปสู่อนาคตแบบนี้ เขาต้องทำอะไร เขาต้องทำงานอะไรร่วมกันบ้าง ประโยชน์จะต้องตกที่เด็กเป็นสำคัญ จริงๆหลักมันฟังดูไม่ได้ยากอะไรเลย ก็คือทำกระบวนการทุกอย่างเพื่อตัวเด็ก ทำเพื่อประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญเพราะเขาคือรากฐานของวันนี้และอนาคตของเรา

หลังจากที่เรามองการศึกษาของประเทศฟินแลนด์มาแล้ว ตอนนี้ครูจุ๊ยมีมุมมองอย่างไรต่อระบบการศึกษาของไทย และปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ ?

จุ๊ยคิดว่ามันคือเรื่องการเข้าไม่ถึงทรัพยากรเป็นหลัก เมื่อเขาเข้าไม่ถึงทรัพยากรก็ยากเหลือเกินที่จะพัฒนาให้มันเป็นไปตามที่เราอยากให้มันเป็นได้ ดังนั้นถ้าจะปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือการทำอย่างไรก็ได้ให้เขาเข้าถึงทรัพยากร จุ๊ยไม่ได้หมายถึงการนำไปให้เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการที่เขาจะต้องสามารถใช้ทรัพยากรนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเพื่อเป้าหมายของการศึกษาที่ได้วางแผนไว้ มันจะต้องไปพร้อมกัน

ครูจุ๊ยคิดว่าอะไรเป็นจุดแข็งของโรงเรียนขนาดเล็กในบ้านเรา ?

การที่คุณครูสามารถใกล้ชิดกับเด็กได้ จุ๊ยว่ามันสำคัญมากๆ เลย แล้วมันก็เป็นความสัมพันธ์ที่โรงเรียนใหญ่ๆ ที่ครู 1 คน ต่อ เด็ก 50 คน จะไม่มีทางทำได้ นอกจากความเล็ก ความที่ครูได้ใกล้ชิดกับเด็กแล้ว ถ้าเป็นโรงเรียนที่อยู่ในชนบท หรืออยู่ในพื้นที่ป่าเขาลำเนาไพร ธรรมชาติใดๆ ห้องเรียนเขาจะใหญ่กว่าคนที่อยู่ในเมืองเยอะมาก ดังนั้นมันกลับไปสู่สิ่งที่จุ๊ยพูดตั้งแต่แรกว่า คุณครู โรงเรียน ชุมชน ทุกคน จะต้องกลับไปมองพื้นที่ตัวเองว่าเราสามารถพัฒนาอะไรให้มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้บ้าง เรามีอะไรอยู่บ้าง เราใช้อะไรได้บ้าง แล้วส่วนที่มันยังขาดอยู่หรือใดๆ ก็ตาม เราก็อาจจะมาระดมสมองด้วยกันว่าเราจะขอความช่วยเหลือสิ่งนี้จากที่ไหน หรือขอความร่วมมือจากใคร บางทีไม่ต้องมองไกล มันอาจจะอยู่แค่ในชุมชนนี้แหล่ะเราก็เจอแล้ว ดังนั้นในส่วนของการปฐมพยาบาลทำเบื้องต้นร่วมกันได้เลย โดยที่โรงเรียนเอง ชุมชนเอง ก็ไม่ได้จะต้องรอส่วนกลางก็สามารถเริ่มได้เลย

บทสัมภาษณ์จากโครงการครูนักส่งเสริมการอ่าน รุ่นที่ 8 หัวข้อ ถอดรหัสการอ่านแบบฟินแลนด์ นำมาใช้กับการศึกษาไทยได้จริงหรือ? จัดโดยมูลนิธิไทยคม

MORE READ
COMMENT