เข้าใจ 5 วัฒนธรรมองค์กรสุดโต่ง ที่ทำให้ 'Netflix' ยิ่งใหญ่

Talkative

Netflix ถือได้ว่าเป็น 'แพลตฟอร์มสตรีมมิงภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ออนไลน์' ที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังจะเห็นได้จากมูลค่าหุ้นที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาดสูงเป็นอันดับ 1 แซงหน้า Walt Disney ไปแล้วในตอนนี้ อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของคำศัพท์ที่ใครหลายคนอาจจะไม่คุ้นหู อย่าง 'Binge Watching' ที่หมายถึงการดูซีรีส์แบบรวดเดียวจบทั้งซีซันแบบไม่เป็นอันทำอะไร ก็เพราะความสนุกเกินห้ามใจทั้งหมดหาได้เฉพาะใน 'เน็ตฟลิกซ์' เท่านั้น

Netflix Culture Freedom and Responsibility

ก่อนที่จะไปอ่านบางส่วนของวัฒนธรรมองค์กร เบื้องหลังสำคัญที่ทำให้เน็ตฟลิกซ์สามารถขับเคลื่อนได้จนมาถึงทุกวันนี้ ก็คือเหล่าพนักงานที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมองค์ โดย รีด เฮสติงส์ ผู้ก่อตั้งเน็ตฟลิกซ์ และ แพตตี้ แมคคอร์ด ที่รับตำแหน่ง Chief Talent Officer ได้บันทึกไว้เป็นสไลด์ความยาว 125 หน้า ใช้ชื่อว่า Netflix Culture: Responsibility & Freedom และได้รับการพูดถึงว่าเป็นสไลด์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในซิลิคอนวัลเลย์ โดยมีคนเปิดอ่านแล้วกว่า 18 ล้านครั้ง

วัฒนธรรมองค์กรในแบบของ 'Netflix'

มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครสักคนจะสร้างธุรกิจของตัวเองจนกลายเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกได้ ซึ่งข้อมูลจากหนังสือ Powerful Building a Culture of Freedom and Responsibility ซึ่งเขียนโดย แพตตี้ แมคคอร์ด ได้นำเสนอวิธีคิดที่เน็ตฟลิกซ์นั้นนำมาใช้สร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กรในแบบไม่เหมือนใคร โดยเนื้อหาในหนังสือบางส่วนได้เล่าอธิบายไว้ว่า เน็ตฟลิกซ์นั้นก็เหมือนกับองค์กรธุรกิจทั่วไปที่มีความต้องการอยากจะได้คนเก่งๆ เข้ามาร่วมงาน เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ให้คุณค่ากับความโปร่งใสและการเคารพซึ่งกันและกัน เข้าใจในความหลากหลาย ในที่นี้จะขอยก 5 ข้อที่รู้สึกพิเศษ ไม่เหมือนกับวัฒนธรรมองค์กรทั่วๆ ไป

1. ส่งเสริมให้พนักงานตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างมีอิสระ

หากลองแบ่งรูปแบบองค์กรออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก หากมีขยะอยู่กลางออฟฟิศ พนักงานทุกคนที่อยู่ในออฟฟิศนั้นจะทำตัวนิ่งเฉย คงไม่มีใครเดินไปเก็บขยะที่ถูกทิ้งไว้อยู่ เพราะคิดว่านั่นคงไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ใขณะเดียวกัน องค์กรประเภทที่ 2 เมื่อพนักงานเห็นขยะที่ถูกทิ้งอยู่กลางออฟฟิศก็จะรีบเก็บไปทิ้งโดยทันที เพราะคิดว่าออฟฟิศก็เปรียบเสมือนบ้านที่เราไม่อยากให้ดูสกปรก เน็ตฟลิกซ์ได้พยายามสร้างองค์กรให้เป็นแบบที่ 2 การเก็บขยะก็เปรียบได้กับการแก้ไขปัญหาที่ไม่ควรคิดว่า นั่นไม่ใช่เรื่องของเรา นั่นไม่ใช่งานของเรา นั่นไม่ใช่หน้าที่เรา อย่าเข้าไปยุ่งเลย ที่เน็ตฟลิกซ์ไม่ได้ออกกฎให้เก็บขยะ แต่พยายามสร้างความเป็นเจ้าของ ความรับผิดชอบ และการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในตัวพนักงานทุกคน

รีด เฮสติงส์ เชื่อว่าการที่ทำให้ทุกคนมีความรับผิดชอบอยู่ในตัว องค์กรจำเป็นที่จะต้องให้อิสระกับหนักงาน พวกเขาจะได้มีแรงผลักดันในตัวเอง โมเดลที่เน็ตฟลิกซ์นำมาใช้ คือการทำยังไงก็ได้ให้พนักงานมีอิสระที่มากขึ้นกว่าที่เคยเป็นไปพร้อมๆ กับการเติบโตของบริษัท พยายามไม่ไปจำกัดอิสระ อีกทั้งยังให้อำนาจการตัดสินใจ เสมือนว่าทุกคนเป็นหัวหน้าตัวเอง เพื่อเป็นการรักษาพนักงานเก่งๆ ให้อยู่กับองค์กรต่อ แต่พนักงานก็ต้องมีวินัยในการทำงานด้วย เพื่อช่วยกระตุ้นให้องค์กรสามารถเติบโตได้ง่ายและแข็งแรง

2. เก็บเฉพาะคนที่ทำงานเก่งไว้เท่านั้น

การทำงานในแบบของครัวอาจไม่ได้ดีที่สุด เน็ตฟลิกซ์เชื่อแบบนั้น พวกเขาต้องการให้ทำงานในแบบดรีมทีมเหมือนสปอร์ตทีมที่มีเป้าหมายเดียวกัน ตัดสินใจกันด้วยผลงาน และอาจไม่ได้อยู่ทีมเดียวกันเสมอไปทุกโปรเจกต์ เพราะอย่างนั้นเมื่อไหร่ที่มีตัวถ่วง เน็ตฟลิกซ์ก็จะนำเสนอแพ็กเกจชดเชิญเพื่อเชิญให้ออก โดยใช้คะแนนวัดผลจาก Keeper Test หรือแบบทดสอบการรักษาพนักงาน หากใครไม่ได้สมควรที่จะอยู่ต่อไป ก็จะได้รับแพ็กเกจตอบแทนที่คุ้มค่า แต่หากใครที่เน็ตฟลิกซ์ต้องการตัว บริษัทก็พร้อมจ่ายค่าตอบแทนในราคาสูงที่สุดในตลาดเพื่อซื้อตัวเข้ามาร่วมงานในทันที

3. วิจารณ์กันต่อหน้า ห้ามเก็บไปพูดลับหลัง

เน็ตฟลิกซ์พยายามที่จะส่งเสริมให้พนักงานสามารถคอนเมนต์กันได้อย่างเปิดเผย เป็นมืออาชีพ และสร้างสรรค์ ภายใต้คำถามที่ว่า "เราจะขึ้นได้อย่างไร" และ "มีฟีดแบ็กอะไรบ้างที่เรายังไม่ได้แชร์ไปถึงคนอื่น" พวกเขาเชื่อว่าการให้ฟีดแบ็กที่ดีจะทำให้คนอื่นๆ เรียนรู้ได้เร็วขึ้นและพัฒนาตัวเองจนเก่งได้มากขึ้น ซึ่งการฟีดแบ็กคนอื่นบ่อยๆ จะทำให้ภูมิต้านทานการรับความคิดเห็นจากคนอื่นดีขึ้นอีกด้วย เคล็ดลับที่สำคัญ คือ การอย่าด่วนตัดสินคนอื่น แต่ให้ขอคำอธิบายเพิ่มเติม แล้วนำข้อมูลมาแชร์กันไว้เป็นหลักฐาน จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน ท้ายที่สุด ทุกการฟีดแบ็กจะต้องวนกลับมาตอบคำถามด้วยว่า "สิ่งที่พูดไปให้อะไรกับองค์กรและลูกค้า" หากผลโยชน์อยู่ที่ 2 อย่างนี้ นั่นจะกลายเป็นที่สุดของการตัดสินแบบไม่เอนเอียงไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

4. ข้อมูลต้องเปิดเผยอย่างกว้างขวางและเท่าเทียม

อีกสิ่งหนึ่งที่เน็ตฟลิกซ์พยายามเน้นย้ำมาตลอด คือการที่พนักงานทุกคนจะต้องเข้าใจรูปแบบธุรกิจ รู้จักคู่แข็ง และรับรู้รายได้ขององค์กร เพื่อให้พนักงานตระหนักได้ว่าตัวเองเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่จะช่วยองค์กรให้เติบโตยังไงได้บ้าง ดังนั้น การแชร์ข้อมูลภายในของเน็ตฟลิกซ์จึงมีความเป็นระบบระเบียบมาก โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ที่สำคัญก็ยิ่งต้องทำเป็นข้อมูลเพื่อเปิดเผย จะได้ย้อนกลับมาดูได้อยู่ตลอดว่าทำไมในตอนนั้นหัวหน้าถึงตัดสินใจแบบนั้นและเหตุผลคืออะไร

5. มีกฎระเบียบน้อยที่สุด

ขอยกตัวอย่างความอิสระที่เน็ตฟลิกซ์ได้มอบให้กับพนักงานบางส่วนมาให้อ่าน ดังนี้

  • พนักงานสามารถที่จะพักร้อนเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีเวลากำหนด เพราะเน็ตฟลิกซ์เชื่อว่าเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวของทุกคนผสมผสานเป็นส่วนเดียวกันอยู่แล้ว ดังนั้นที่นี่จึงไม่สนใจว่าพนักงานจะทำงานมากน้อยแค่ไหน แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะต้องออกมายอดเยี่ยม
  • นโยบายลาคลอดสำหรับพนักงาน คือ ต้องการดูแลตัวเองและลูกที่เพิ่งเกิดใหม่ให้ดีที่สุด ซึ่งพนักงานสามารถลาหยุดได้ 1 ปีโดยที่ยังรับเงินเดือนเหมือนเดิม พนักงานมีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ว่าจะขอรับค่าจ้างในรูปแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเงินสด เช็ค หรือหุ้นของบริษัท
  • หากพนักงานต้องการที่จะใช้เงินเพื่อเอนเตอร์เทนลูกค้า นโยบาย คือ ต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเน็ตฟลิกซ์ แล้วสามารถเบิกจ่ายได้ในแบบที่ไม่มีแผนกตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น

'Netflix' ประสบความสำเร็จจาก 'ออริจินัลคอนเทนต์'

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว 'Netflix' เริ่มต้นการทำธุรกิจให้บริการเช่าวีดีโอออนไลน์จนถึง 2007 จากนั้นธุรกิจก็เริ่มซบเซา ทำให้ รีด เฮสติงส์ ผู้ก่อตั้งเน็ตฟลิกซ์ได้ตัดสินใจปรับรูปแบบของธุรกิจของบริษัทครั้งใหม่ โดยเปิดให้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิงภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ออนไลน์ มีจุดเด่นอยู่การผลิตออริจินัลคอนเทนต์เป็นของตัวเอง คอนเทนต์แรกที่ผลิต คือ House of Cards แล้วจึงตามมาด้วยซีรีส์ยอดนิยม อย่าง 13 Reasons Why, Stranger Things, Black Mirror, Orange is The New Black และอื่นๆ ซึ่งในปีนี้เน็ตฟลิกซ์ยังคงทุ่มงบอย่างต่อเนื่อง โดยลงทุนถึง 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อผลิตคอนเทนต์ใหม่ๆ มานำเสนอผู้ชมมากกว่า 1,000 ชั่วโมง

ที่มา The Standard

MORE READ
COMMENT