รู้ตัวว่าชอบกังวล ฟุ้งซ่าน อย่าซื้อยากินเอง เสี่ยงซึมเศร้าได้ !

Talkative

เรื่องของ โรคซึมเศร้า นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราๆ เพิ่งจะมาให้ความสำคัญกันไม่กี่ปีมานี้ โดยล่าสุด น.อ.ต.นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาเตือนและให้คำแนะนำแก่ประชาชนที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า มีอาการวิตกกังวล ชอบคิดฟุ้งซ่าน และกลัวอะไรไปเกินกว่าเหตุที่เป็นติดต่อกันมานานกว่า 6 เดือนว่าต้องรีบเดินทางไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ไม่ควรซื้อมากินเอง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการอาจร้ายแรงมากยิ่งขึ้นและติดสอยห้อยตามโรคต่างๆ เข้ามาสู่ร้างกายเรา อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

อาการป่วยคนไทยไม่ได้มีแค่โรคทางจิต

อธิบดีกรมสุขภาพจิตยังได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเอาไว้อีกว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชของคนไทยไม่ได้มีแค่โรคทางจิต แต่ยังมีในกลุ่มของโรควิตกกังวล (anxiety disorders) ที่จิตใจของผู้ป่วยจะแปรปรวนและอ่อนไหวได้ง่าย ที่พบได้มากๆ ก็คือ โรควิตกกังวลทั่วไป (general anxiety disorder) ที่สามารถเกิดในคนปกติได้ ไม่ว่าจะเป็น การกังวลเรื่องลูกไปโรงเรียน การเข้าทำงานใหม่ แต่อาการเหล่านี้เป็นได้ไม่นานก็จะหายไปเอง แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปแล้วจะมีอาการต่อเนื่องกันนานกว่า 6 เดือน

ลักษณะเด่นของโรควิตกกังวล

อาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด คือ ความคิดที่ฟุ้งซ่าน เกิดความกลัว และกังวลเกินไปกว่าเหตุ ทั้งที่บางเหตุการณ์ หรือส่วนใหญ่ยังไม่เกิดขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการใจลอย ตกใจได้ง่าย ไม่สามารถหักห้ามใจไม่ให้คิดได้ อีกทั้งยังมีอาการทางกายปรากฏร่วมด้วย อาทิ เหนื่อยง่าย กระสับกระส่าย ใจสั่น เหนื่อยง่าย ปวดตึงกล้ามเนื้อเฉพาะที่บริเวณต้นคอ ไหล่ หลัง รวมไปถึงหัวใจเต้นเร็ว แรง ท้องเสีย หายใจไม่อิ่ม ปัสสาวะบ่อย นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ มือเท้าเย็น เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2556 พบว่า ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปเป็นโรคนี้ร้อยละ 0.3 โดยคาดว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยประมาณ 140,000 คน

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรควิตกกังวลทั่วไป

อธิบดีกรมสุขภาพจิตได้พูดถึงในประเด็นนี่ว่า คนไทยมักเข้าใจผิดกันบ่อยเกี่ยวกับโรควิตกกังวลทั่วไป ว่าเกิดจากความผิดปกติทางจิตใจ หรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง คิดว่าเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยแกล้งทำ หรือเกิดจากที่ตัวเองคิดมากไป ไม่ได้เป็นอาการเจ็บป่วย จึงละเลยไม่ไปพบแพทย์ หรือจิตแพทย์เพื่อรีบรักษาที่ต้นเหตุ ซึ่งโรคนี้มียารักษาและต้องใช้วิธีการบำบัดทางจิตสังคมร่วมด้วย เพื่อเป็นการปรับความคิดและพฤติกรรมควบคู่กันไป

ที่เป็นกังวลอยู่มาก็คงจะเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยไปซื้อยา หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากินเองเพื่อรักษาอาการที่เกิดขึ้นกับตัวเอง อาทิ มีความกังวล นอนไม่หลับ หรือปวดศีรษะ เป็นต้น การทำเช่นนั้นจะส่งผลเสียต่อตัวเองมากกว่า นอกจากจะไม่ได้ผล หรือได้ผลแค่เพียงชั่วขณะแล้ว ยังอาจทำให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกเนื่องจากไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ อธิบดีกรมสุขภาพจิตจึงขอแนะนำให้ผู้ที่มีปัญหาและมีอาการดังกล่าวเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน หรือสามารถโทรไปขอรับคำปรึกษาทางสายด่วยสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

วิธีควบคุม หรือบรรเทาอาการวิตกกังวลทั่วไป

  1. กินยาที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง ครบถ้วน หากจำเป็นต้องซื้อยา หรือสมุนไพรตามร้านขายยาทั่วไป ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนซื้อ
  2. นอนพักผ่อนให้เป็นเวลา เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน อาทิ ชา กาแฟ น้ำอัดลม ไปจนถึงเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะคาเฟอีนจะเข้าไปกระตุ้นอาการให้แย่ลงได้
  3. ฝึกทำสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ต้องรู้จักปล่อยวาง จะทำให้จิตใจของเราสงบและเป็นปกติมากยิ่งขึ้น

MORE READ
COMMENT