"ACT4HEALTH" เมื่อละครเป็นมากกว่าการแสดง ตอนที่ 1

Talkative

หน้ากากเปลือย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ บูม ซี แอนด์ เอ็ม จัดโครงการ ACT4HEALTH YOUNGSTER ที่เป็นการนำเอากระบวนการ "ละคร" มาผสมผสานเข้ากับการเรียนรู้ในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาเยาวชนและส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

โดยในปีนี้ มีเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาเข้าร่วมกระบวนการกว่า 30 ทีม มีรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อรอส่งต่อและถ่ายทอดให้กับเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ และนี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการ ACT4HEALTH YOUNGSTER ในปีนี้ ซึ่งครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นพบปะร่วมกับทีมงานและเครือข่ายเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ภายใต้สถานที่คือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

คุณนินาท บุญโพธิ์ทอง ผู้อำนวยการเครือข่ายหน้ากากเปลือย แผนเยาวชน ได้พูดถึงการทำงานโครงการในปีนี้ว่า “สิ่งที่อยากให้เห็นคือความสนุก เพราะกระบวนการในการทำงานในปีนี้มุ่งอยากให้น้องๆ ทั้งมัธยมและมหาวิทยาลัย สนุกที่จะทำละคร นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อแบ่งปันสิ่งดีๆ ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการละครระหว่างพี่มหาวิทยาลัยกับน้องมัธยมอีกด้วย”

เมื่อโจทย์ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นทั้งเรื่องของความสนุกและการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รูปแบบของการจัดกิจกรรมจึงเป็น Day Camp ที่รวมเอาพี่ๆ มหาวิทยาลัย และน้องๆ มัธยมที่เคยร่วมกระบวนการละครกับโครงการ ACT4HEALTH เมื่อปีที่ผ่านมา และพี่ๆ แกนนำในการร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมได้ชวนน้องๆ นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชั้น ม.1 ที่ไม่เคยร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับละครเลย มาเล่นละครเพื่อ Showcase กันในค่าย นี่เป็นหนึ่งโจทย์สถานการณ์ที่ทำให้โครงการในปีนี้ดูแตกต่างออกไปจากการทำละครในรูปแบบที่หลายๆ คนเคยทำมา

น้องวิท ไกรวิชญ์ สิมเกิด นักเรียนกลุ่มแกนนำจากชมรม SL.Play โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กล่าวว่า "จากปีก่อนๆ เคยเป็นแต่เด็กค่าย ซึ่งก็จะได้เรียนรู้กระบวนการทำละครเป็นอย่างไร แต่คราวนี้เราได้มาเป็นผู้ที่กำกับน้องๆ ต้องคอยดูแลน้องๆ เราก็ได้รู้ว่ากระบวนการมันเป็นอย่างนี้ เราต้องทำยังไงต่อไปเพื่อให้สรุปกระบวนการที่ทั้งเราในการกำกับน้อง และน้องได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมของเรา"

"การมาครั้งนี้เป็นเหมือนการได้มาแลกเปลี่ยน เหมือนคนหนึ่งเอากระบวนการในแบบของโรงเรียนตัวเองมา เราก็เอารูปแบบการทำละครของโรงเรียนเรามาแบ่งปันกัน มาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และนำมาพัฒนาการทำละครของโรงเรียนเราต่อไป" เอส ณัฐพล บุญยะ จากชมรม SL.Play โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กล่าวเสริม

น้องไมค์ พันธกิจ หลิมเทียนลี้ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการแสดงและการกำกับการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงสิ่งที่แตกต่างของโครงการ ACT4HEALTH กับกระบวนการทำละครปกติว่า "โครงการนี้คือการเรียนรู้จากการลงมือทำ ลงไปลองผิดลองถูก มีระยะเวลาที่จำกัดแล้วก็ทำให้เราได้เห็นถึงปัญหาทันที และร่วมกันเรียนรู้ตรงนี้เลย ด้วยเวลาเพียง 2 วัน เราก็สามารถเอาข้อมูลหรือเครื่องมือไปใช้กับการทำโครงการละครในพื้นที่ของตัวเองได้มากแล้ว"

น้องไมค์ยังกล่าวเสริมด้วยอีกว่า "ในกิจกรรมที่ได้ร่วมในวันนี้เป็นเหมือนการจำลองสถานการณ์เมื่อเราต้องเป็นแกนนำลงไปทำกิจกรรมกับเด็กในพื้นที่ เราจะสามารถรับมือกับกลุ่มคนที่หลากหลายด้วยวัยที่ต่างกันได้อย่างไร ซึ่งรวมถึงการออกแบบกระบวนการซึ่งสำคัญมากในการทำโครงการให้ได้ผลตามที่เราวางเอาไว้ พอเราได้เข้ามาทำร่วมกันกับเพื่อนในกลุ่ม เราจะได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีการสร้างงานที่แตกต่างกันซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการพัฒนางานของตัวเราเองในอนาคต"

ติดตามเรื่องราวนี้ได้ต่อที่ : ACT4HEALTH เมื่อละครเป็นมากกว่าการแสดง ตอนที่ 2

MORE READ
COMMENT