"น้ำหนัก" ก็เพิ่มลดได้เหมือนกับ "เงิน" ที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์

Talkative

เรื่องที่เอามาฝากกันนี้ เป็นเรื่องราวของแพทย์ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในแต่ละปีนั้น หมอในจะผลัดเปลี่ยนกันออกไปตามแผนกต่างๆ ที่ในหนึ่งปีแบ่งออกเป็น 24 รอบ เฉลี่ยแแล้วก็รอบละครึ่งเดือน ไม่ว่าจะเป็นห้องตรวจโรคทั่วไป ห้องตรวจโรคเรื้อรัง ห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน หอผู้ป่วยใน ไปจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อสถานีอนามัย ซึ่งถ้านับโดยรวมแล้ว แพทย์คนนี้ได้ออกตรวจผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง อย่าง โรคเบาหวาน , โรคความดันโลหิตสูง , โรคไขมันในเลือดสูง , โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดเป็นเวลา 5 เดือน นับว่าเป็นการฝึกทักษะการสื่อสารกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี

ใจหายทุกครั้งที่ "น้ำหนัก" ขึ้น !

ในบรรดาผู้ป่วยที่เดินทางมาขอรับยาจากโรงพยาบาล จะเห็นได้ว่าแต่ละคนก็จะมีสมุดประจำตัวคนไข้แตกต่างกัน ทั้งรูปแบบของสมุดและความแตกต่างของการจดบันทึก แต่สำหรับสมุดบันทึกของโรงพยาบาลที่แพทย์คนนี้ทำงานอยู่นั้นสมุดค่อนข้างกะทัดรัด พกไปไหนมาไหนได้สะดวก หากเปิดกางออกมาก็จะมีขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของกระดาษ A4 พอดิบพอดี ด้านในมีตารางเต็มทั้งสองหน้าไว้สำหรับจดบันทึกตัวเลขที่วัดได้จากผู้ป่วยที่มาตรวจตามนัด เมื่อมองลงไปที่สมุด ก็สะดุดไปกับตัวเลข "น้ำหนัก" ของคนไข้เป็นอย่างแรก โดยช่องที่จดนั้นจะอยู่แถวที่ 2 ถัดจากช่องวันที่ที่ต้องระบุเพื่อเป็นตัวอ้างอิงเวลา

แพทย์คนนี้ได้มองย้อนขึ้นไปดูช่วงเวลาเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันในปีก่อนๆ เพื่อหาน้ำหนักในตอนนี้กับตอนนี้ มีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใดตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยบางคนก็ชอบเปรียบเทียบน้ำหนักของตอนนี้กับนัดครั้งที่แล้วเท่านั้น ที่เห็นความแตกต่างได้เพียงเล็กน้อย แต่เมื่อมองภาพรวมที่สะสมมาตลอกทั้งปีก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น หากเปลี่ยนแปลงเยอะ แพทย์ก็จะสอบถามกับคนไข้ว่ามีความพอใจมากน้อยแค่ไหน หรือคิดว่าความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เกิดจากสาเหตุอะไร เพราะถ้าคนไข้กำลังลดน้ำหนัก หรือมีความคิดที่จะลดน้ำหนักก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าน้ำหนักลดลงมากก็ต้องสอบถามอีกเช่นกัน ว่าตั้งใจลด หรือเกิดร่างกายอาจเกิดความผิดปกติจากโรคก็เป็นได้

อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า "เหมาะสม" ?

เมื่อเกิดคำถามว่า "รู้หรือไม้ว่าควรมีน้ำหนักเท่าไหร่ถึงจะดี" คนไข้ได้ยินอย่างนั้นก็ยิ้มออกมาแบบแหยๆ เขาไม่อยากตอบ หรือเกิดความไม่มั่นใจขึ้นมาว่าน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หรือลงลดนั้น ดี หรือไม่ดีกันแน่ แพทย์คนนี้เลยคิดที่จะหาข้อมูลที่เป็นหลักให้ผู้ป่วยได้เอามาเปรียบเทียบกับน้ำหนักเป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยสร้างเป็นตาราง แบบประเภทออกเป็นกลุ่มน้ำหนักปกติ , ท้วม (pre-obese) ,  อ้วนระดับ 1 , และอ้วนระดับ 2 อ้างอิงข้อมูลตามดัชนีมวลกาย (BMI) มีแถวที่เป็นตัวเลขส่วนสูงตั้งแต่ 150 , 155 , 160 ไปเรื่อยๆ จนถึง 180 เซนติเมตร พิมพ์ลงกระดาษเอาไว้หยิบขึ้นมาให้คนไข้ได้ดู ซึ่งเมื่อเทียบกับส่วนสูงที่คงที่ในผู้ใหญ่แล้ว เลื่อนลงไปหาค่าน้ำหนักของคนไข้ก็จะรู้ได้ว่าอยู่ในประเภทไหน น้ำหนักที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่

แต่การเปรียบเทียบแบบนี้ก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างเสียเวลา แพทย์คนนี้จึงได้เอาดัชนีโบรคา (Broca’s) มาใช้ทดแทน ถึงจะล้าสมัยกว่า BMI ไปบ้าง แต่ก็ค่อนข้างสะดวกเวลาคำนวณ คือ น้ำหนักที่เหมาะสม (กก.) = ส่วนสูง (ซม.) - 100 เช่น คนหนึ่งมีส่วนสูง 170 ซม. ก็ควรที่จะมีน้ำหนัก 170 - 100 = 70 กก. ทำให้การคำนวณแทบจะไม่ต้องกดเครื่องคิดเลขด้วยซ้ำ หรือบอกให้ผู้ป่วยจะเอาไว้ได้ง่ายๆ ว่าเป็น "เลขท้าย 2 ตัว" ของส่วนสูงเรานี่แหละ

หากนำข้อมูลที่ได้จากส่วนนี้ไปเทียบกับข้อมูลของ BMI แล้ว น้ำหนักที่ได้ก็จะอยู่ในเกณฑ์ "ท้วม" หรือ "มีน้ำหนักเกิน" แต่ก็ยังไม่ถึงขึ้นเป็นโรคอ้วน ซึ่งสำหรับผู้ใหญ่วัยกลางคน หรือผู้สูงอายุก็ถือว่าเป็นอะไรพอดิบพอดี ไม่มากน้อยจนเกินไป เนื่องจากหลายครั้งที่ยึดเอาน้ำหนักตามตาราง BMI พอเห็นตัวเลขคนไข้ก็ทำให้รู้สึกถอดใจ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะลดน้ำลงไปจนถึงระดับตัวเลขที่คำนวณไว้ได้

ควบคุมน้ำหนักทำได้อย่างไร ?

เริ่มเห็นท่าทีว่าผู้ป่วยอยากจะลดน้ำหนักขึ้นมาบ้างแล้ว คราวนี้ก็เริ่มแนะนำวิธีการควบคุมน้ำให้กับคนไข้ไป เดิมทีแล้วแพทย์คนนี้ใช้วิธีการ "เลคเชอร์" คนไข้แบบเดียวก็ที่เคยเรียนมาสมัยที่ยังเป็นนิสิตแพทย์ ว่ากันว่า น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น หรือลดลงนั้นขึ้นอยู่กับ "กระดานหกพลังงาน" พลิกไปที่ด้านหลังกระดาษบัตรคิวแล้วก็วาดไว้กระดกลงไปให้เห็นภาพ เขาขีดเส้นตรงขึ้นมา 1 เส้น จากนั้นก็วาดรูปสามเหลี่ยมเอาไว้ใต้เส้นตรงกลาง ฝั่งซ้ายวาดเป็นวงกลมแทนก้อนพลังงานที่ได้รับ "เข้า" ในร่างกาย ส่วนฝั่งขวาวาดเป็นวงกลมแทนพลังงานอีกก้อนที่ร่างกายใช้ "ออก" มา จะเห็นว่าเหมือนกับไม้กระดกที่เราเล่นกันตอนเด็กๆ ไม้กระดกจะขนานกันกับพื้นก็ต่อเมื่อน้ำหนักของแต่ละฝั่งเท่านั้น เมื่อเราสามารถควบคุมพลังงานของทั้ง 2 ด้านให้สมดุลกันได้ น้ำหนักเราก็จะเท่าเดิม

เมื่อไหร่ที่เห็นว่าเราได้รับพลังงานมากกว่าที่ใช้ไป ก็จะวาดเป็นวงกลับซ้อนกันสองวง โดยวาดให้ฝั่งซ้ายใหญ่ขึ้นและฝั่งขวาเล็กลง หากยังเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ พลังงานก็จะเกิดการสะสม น้ำหนักตัวของเราจะเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากเราใช้พลังงานไปมากกว่าที่ร่างกายได้รับ ก็จะวาดวงกลมซ้อนสลับกันกับที่วาดก่อนหน้านี้ เป็นสัญญาณให้เห็นว่าเราสามารถลดน้ำหนัก เพราะในร่างกายไม่เหลือพลังงานที่ตกค้าง พอแพทย์วาดเช่นนี้บ่อยเข้าก็รู้สึกเสียเวลา เนื่องจากเวลาในห้องตรวจโรคเรื้อรังนั้นเป็นเงินเป็นทองมาก พอได้จังหวะว่างเมื่อไหร่ แพทย์คนนี้ก็จะวาดรูปไม้กระดกเตรียมไว้ในกูเกิลสไลด์ เมื่อต้องสอนคนไข้เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เปิดขึ้นมาประกอบได้ทันที

"น้ำหนัก" ก็อาจเท่ากับ "เงินในกระเป๋าสตางค์"

ลองเปรียบเทียบน้ำหนักตัวของเราให้เหมือนกับเงินที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น มันจะมีช่วงที่กระเป๋าฯ แน่นไปด้วยแบงก์ ทำให้กระเป๋าอ้วนขึ้นกว่าเดิมมาก จึงเป็นสิ่งที่แพทย์คนนี้เอามาอธิบายให้คนไข้ได้ฟังตลอด โดยบอกว่าพลังงานที่ร่างกายรับเข้าไปก็เหมือนกับ "รายรับ" หรือการหยิบเงินใส่กระเป๋าฯ ยิ่งรับมากเท่าไหร่ กระเป๋าฯ ก็จะยิ่งตุงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าร่างกายปกติก็จะได้รับพลังงานจากการกินอาหารและเครื่องดื่มผ่านทางปากเพียงช่องทางเดียว ส่วนพลังงานที่ร่างกายใช้ออกมาก็เหมือนกับ "รายจ่าย" หรือการหยิบเงินออกจากกระเป๋า มันจะประกอบไปด้วย "รายจ่ายประจำ" อาทิ ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ เปรียบได้กับ "พลังงานขั้นพื้นฐาน (basal metabolic rate)" ที่แต่ละอวัยวะใช้ในการทำงาน ยกตัวอย่าง เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ต้องการพลังงานมาใช้ในการบีบตัวของหัวใจ หรือพลังงานในอีกแบบที่เราใช้ในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การแปรงฟัง การนั่งกินข้าว ไม่ว่าจะอิริยาบถไหนต่างก็ต้องใช้พลังงานด้วยกันทั้งสิ้น

ต่อกันด้วยรายจ่ายอีกหนึ่งประเภท ก็คือ "ร่ายจ่ายชั่วคราว" ที่มักจะเพิ่มขึ้นมาไม่แน่ไม่นอนในแต่ละวัน อาทิ ค่าของใช้ ค่าเดินทางท่องเที่ยว ค่าสันทนาการ เปรียบได้กับการเพิ่มกิจกรรมทางกาย เช่น การปั่นจักรยานไปทำงาน การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ถือได้ว่าเป็นการออกกำลังกาย หากเราทำให้มีความหนักได้ตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไป ทำเป็นประจำสม่ำเสมอทุกวัน วันละ 30 นาที จำนวน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็อาจทำให้กลายเป็นรายจ่ายประจำเลยก็ได้

เมื่อรายจ่ายเริ่มเข้าที่แน่นอนแล้ว ก็ลองเอารายจ่ายทั้งหมดมาหักลบกับรายรับจะได้เป็นเงิน "คงเหลือ" ที่สะสมเป็นน้ำหนักตัว ซึ่งข้อเสียของการควบคุมน้ำหนักในลักษณะนี้ คือ ความขัดแย้งกับหลักการออมเงินในแบบที่เราคุ้นเคย เพราะหากอยากที่จะลดน้ำหนัก เราต้องสุรุ่ยสุร่ายให้มากที่สุด ถ้าอยากให้เงินในกระเป๋าลงลงยังไง อยากให้น้ำหนักลดก็ต้องทำเช่นนั้น อธิบายให้เห็นภาพอีกนิด "รายรับต้องน้อยลง รายจ่ายต้องมากขึ้น" ในความหมาย คือ ให้เราลดปริมาณอาหารที่กินและเพิ่มการขยับร่างกาย หรือให้ออกกำลังกายจนเป็นหนี้หัวโตได้ก็ยิ่งดี

ยึดหลักการอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ

ถึงคนไข้จะออกตัวว่าไม่ได้กินอะไรเข้าไปมากมายขนาดนั้น พยายามควบคุมอาหารมาแล้ว กินน้อยบ้าง ไม่ค่อยได้กินบ้าง เพราะกลัวว่าแพทย์ หรือพยาบาลจะตำหนิเข้าให้ ดังนั้นเลยอยากขอลงรายละเอียดให้ลึกไปกว่านี้อีกสักหน่อย

จากที่ลองถามคนไข้ บ้างก็กินกาแฟใส่น้ำตาลในตอนเช้า บางคนกินขนม บางคนก็กินเป็นมื้อแบบจริงจัง ตักข้าวเยอะ กินกล้วยสุกเพิ่มเข้าไปอีก บางคนก็กินผักแทนเนื้อสัตว์ แต่เลือกผักที่เป็นหัว หรือฝักแทบทุกมื้อ อย่าง ข้าวโพดอ่อน ฟักทอง มะเขือยาว ซึ่งรู้รึเปล่าว่าผักเหล่านี้ให้พลังงานที่มากกว่าผักแบบเป็นใบเสียอีก แต่ถึงแม้ว่าจะเสียเวลาในการไล่เรียงเรื่องอาหารการกินไปอยู่บ้าง ก็เป็นอะไรที่คุ้มค่า เพราะเทียบได้กับช่างตัดเสื้อที่วัดตัวตัดทีละส่วน เสื้อที่ได้ออกมาก็จะพอดีตัวผู้ใส่ ในขณะที่ถ้าแพทย์แนะนำแค่เพียงหลักการว่า "ลดอาหาร" เพียงอย่างเดียว หรือเปรียบกับกระเป๋าสตางค์ คือ "รายรับต้องน้อยลง" คนไข้ก็จะไม่รู้ว่าต้องลดอะไรตรงไหนบ้าง เสื้อที่ใส่ก็คงหลวมไป

เรียบเรียงจากเรื่องราวของ ชนาธิป ไชยเหล็ก

MORE READ
COMMENT