ไม่ใช่เรื่องผิดหาก "เป็นหนี้" แต่คงแย่กว่านี้ถ้าใช้หนี้ "ไม่เป็น"

Talkative

จริงๆ แล้วการเป็นนี้นั้นไม่ได้ส่งผลให้คนมองเราในทางลบ หรือทำให้ดูแย่ไปกว่าเดิมได้ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติเมื่อเราไม่สามารถหารายรับเข้ามาให้เพียงพอต่อรายจ่ายที่เกิดขึ้น เมื่อเรารู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรก คือ การหาทางเพิ่มรายรับ หรือตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ดูจะเป็นทางเดียวที่ทำให้ตัวเองอยู่ในระยะปลอดภัยมากที่สุด การไปกู้หนี้ยืมสินนั้นถือเป็นรายรับเพียงชั่วคราว ไม่ได้เพิ่มรายได้ แต่ยังเพิ่มรายจ่ายของแต่ละวันให้เราอีก ซึ่งก็คือดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายตามสัดส่วนของเงินที่ไปกู้ยืมมา

คงจะชัดเจนขึ้นแล้วว่า หลายคนคงเริ่มมองเห็นว่าการเป็นหนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองดูลำบาก ถ้าเลี่ยงได้ก็อย่าไปเป็นหนี้ใคร แต่หากมองดูในอีกด้าน การเป็นหนี้ก็ไม่ได้แย่เสมอไป เพราะหากใครบริหารจัดการหนี้ได้เป็น สิ่งแย่ๆ นี้ก็จะกลายเป็นเครื่องมือช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับเราในอนาคตได้อีกด้วย

ความแตกต่าง ระหว่าง "หนี้ที่ดี" และ "หนี้ที่แย่"

ถ้าใครอยากจะจัดการหนี้ที่ตัวเองสร้างขึ้นได้เป็นและมีประสิทธิภาพ ก็ต้องรู้จักแยกแยะให้ถูกเสียก่อน ว่าอะไรคือ "หนี้ที่ดี (Good Debt)" และอะไรคือ "หนี้ที่แย่ Bad Debt"

  • หนี้ที่ดี คือ หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้มากกว่าดอกเบี้ย
  • หนี้ที่แย่ คือ หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้น้อยกว่าดอกเบี้ย

การฟันธงลงไปเลยว่าการเป็นหนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีนั้นคงจะไม่ถูกซะทีเดียว เพราะดูจากตัวอย่างคนที่รวยมากๆ ระดับมหาเศรษฐี หรือบรรดาบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะมีระบุไว้ในข้อมูลการรายงานทางบัญชีว่าแต่ละรายต่างก็มีหนี้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้ที่ให้กู้ยืมต่างๆ อาทิ กลุ่มห้างสรรพสินค้า กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งการที่เอาสินค้าไปวางขายตามที่ต่างๆ กว่าจะได้เงินกลับมาก็หลังช่วงที่สินค้าชิ้นนั้นๆ ขายออก อย่างน้อยๆ ก็ต้องรอ 60 - 90 วัน หรือที่เรียกเป็นภาษาธุรกิจว่า Credit Term หรือทางบัญชีจะระบุไว้ว่า "เจ้าหนี้การค้า"

โดยทั่วไป เจ้าหนี้การค้า จะไม่มีภาระเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งก็คือการที่ห้างสรรพสินค้าได้รับเงินสดจากลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้า โดยหลังจาก 60 - 90 วัน จึงจะเอาเงินที่ได้ในส่วนนี้กลับไปจ่ายให้กับคนที่เอาของเข้าไปขายในห้างนั้นๆ ทำให้ระยะเวลาสั้นๆ เหล่านี้ กลุ่มห้างสรรพสินค้าก็นำเงินเหล่านี้ไปลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน หรือลงทุนในเงินฝากชนิดพิเศษต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทน ปัจจุบันจะอยู่ที่ 1 - 1.5% ต่อปี ผลตอบแทนที่ได้จากตรงนี้ก็จะนำไปจ่ายเป็นค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของห้างสรรพสินค้าในแต่ละสาขาต่อไป

คราวนี้เมื่อไม่มีต้นทุนจากนี้ แถมยังสามารถนำเงินไปลงทุนจนได้ผลตอบแทนกลับมาแล้ว หนี้ก้อนนี้ก็จะช่วยสร้างรายรับได้อีกทางหนึ่งให้กับเรา จึงกลายเป็น "หนี้ที่ดี (Good Debt)" อย่างไม่มีเหตุผลขัดแย้ง

วัดอย่างไรว่าใครเป็นคน "ใช้หนี้เป็น" ?

คนที่ใช้หนี้เป็นจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าถ้าเราจะสร้างหนี้เพิ่ม หนี้ก้อนนั้นจะต้องสร้างรายได้ให้กับเรา ไม่ใช้สร้างหนี้เพราะมีรายรับที่ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่ทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องมองให้ทะลุว่าจะจัดการกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นได้อย่างได้ยังไง อย่ามัวแต่เอาเวลาไปเสาะหาแหล่งเงินกู้จนเกิดหนี้ที่ไม่ดี เพราะหนี้ในลักษณะเช่นนี้อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวด้านการเงินที่อันตรายที่สุด

แต่เดี๋ยวก่อน ! การมีหนีที่ดีก็ไม่ได้ความหมายเราจะสร้างหนี้เท่าไหร่ก็ได้ ไม่ยอมจำกัดเพดานหนี้ แต่ตัวเราเองต้องมีระดับการเป็นหนี้ที่เหมาะสม เพราะถึงแม้จะเป็นหนี้ที่ดีก็คงไม่สามารถดีได้ไปตลอด อาจเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นหนี้ที่แย่ได้เหมือนกัน ฉะนั้น ต้องวางแผนสำรองหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผลตอบแทนที่ได้จากการเอาหนี้ไปหาผลกำไรไม่เป็นไปอย่างใจคิด หรือดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นจนกลายเป็นภาระ เรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งได้เช่นกัน

เรียบเรียงจากเรื่องราวของ Money Buffalo

MORE READ
COMMENT