รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเติมน้ำเสียลงในทะเล หลังบำบัดน้ำสะอาดจนปลาและสาหร่ายทะเลขาดสารอาหาร

BOOMCHANNEL TEAM
Talkative

Seto Inland Sea

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นน้ำใสสะอาดอยู่แทบจะทุกพื้นที่ในประเทศญี่ปุ่น ไม่เว้นแม้แต่ท่อระบายน้ำ ซึ่งในความเป็นจริง การบำบัดน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำใสนั้นดีต่อสภาพแวดล้อมมากกว่า แต่ในบางพื้นที่ การบำบัดให้ได้น้ำที่สะอาดเกินไปกลับไม่ส่งผลดี

ครั้งหนึ่ง น้ำในทะเลเกาะเซโตะ (Seto Inland Sea) เคยมีปัญหามาก ๆ เพราะต้องคอยรับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงที่เศรษฐกิจมีการเติบโตสูง ทำให้ญี่ปุ่นต้องออกกฎหมายในปี ค.ศ. 1973 ให้กระทรวงสิ่งแวดล้อมเริ่มต้นบำบัดน้ำเสียโดยการลดเกลือที่มีส่วนสร้างสารอาหาร (Nutrient Salts) ในน้ำทะเลลง เนื่องจากเกลือชนิดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำขุ่นและเน่าเหม็น ไปจนถึงการจำกัดการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ

ด้วยสาเหตุจากการลดเกลือชนิดดังกล่าวลง ทำให้น้ำทะเลเกาะเซโตะมีความสะอาดมากเกินไปจนจะทำให้ปลาทะเลและเหล่าสาหร่ายขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอยู่ โดยปัญหานี้พบภายหลังขั้นตอนบำบัดน้ำเสีย เกิดการตายของแพลงก์ตอนที่เกิดจากความหนาแน่นของเกลือไนโตรเจน อีกทั้งฟอสฟอรัสลดลง จากความหนาแน่นที่ต่ำลงทำให้สาหร่ายเริ่มเปลี่ยนสีและจำนวนของปลาก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการประมงในพื้นที่ ไปจนถึงฟาร์มที่เพาะเลี้ยงสาหร่าย

เพื่อเป็นการหาทางออกให้กับปัญหานี้โดยที่ไม่ขัดกับข้อกฎหมายเดิม กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นเตรียมที่จะส่งร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขกฎหมายมาตราพิเศษเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของทะเลเซโตะในสภาไดเอทแห่งชาติญี่ปุ่น (The National Diet of Japan) มีกำหนดจัดประชุมในปีนี้ ซึ่งในขณะนี้กระทรวงสิ่งแวดล้อมอยู่ในขั้นตอนของการเติมเกลือที่ช่วยสร้างสารอาหาร หรืออาจเรียกว่า 'ของเสีย' กลับลงไป และจะมีการกำหนดปริมาณความหนาแน่นของเกลือชนิดดังกล่าวใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำเน่าเสียขึ้นได้

ในขั้นตอนของการดำเนินการ รัฐบาลญี่ปุ่นได้มอบหมายให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อให้การจัดการเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว โดยหน่วยงานท้องถิ่นมีแผนที่จะใช้มาตรการพิเศษนี้ในช่วงฤดูการเลี้ยงสาหร่าย ระหว่างช่วงดูใบไม้ร่วงและฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจะมีการเพิ่มปริมาณเกลือผ่านการปล่อยน้ำออกจากโรงบำบัดน้ำเสีย เขื่อน ไปจนถึงอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้แหล่งเกลืออาหารลงสู่ทะเล

ที่มา japantimes.co.jp

MORE READ
COMMENT