"ACT4HEALTH" เมื่อละครเป็นมากกว่าการแสดง ตอนที่ 2

Talkative

วันนี้มาต่อกับตอนที่ 2 ของ ACT4HEALTH เมื่อละครเป็นมากกว่าการแสดง มาถึงฟากของน้องๆ ม.1 ที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ นอกจากจะได้ความสนุกสนานกลับบ้านแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ที่ตนเองไม่เคยรู้กันอีกด้วย

“ตอนแรกที่มาร่วมกิจกรรมนี้ เพราะคุณครูบอกว่าเป็นการอบรมการเป็นผู้นำสำหรับหัวหน้าและรองหัวหน้า แต่พอมาถึงก็ งง เพราะกลายเป็นการอบรมการละครไป เราได้ฝึกพื้นฐานการละคร ได้ฝึกการพูด ฝึกใช้เสียง การ Action ทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนเป็นการฝึกให้เราเป็นคน Creative มากกว่า เช่นการเป็นคนที่รับรู้ Active ตลอดเวลา พูดเป็น ฟังเป็น การทำงานเป็นทีม และการกล้าแสดงออก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างเช่นถ้าเราทำงานกลุ่ม แล้วเพื่อนถามความคิดเห็นกับเรา แล้วเราไม่กล้าจะแสดงความคิดเห็นเราออกมา งานกลุ่มก็จะเป็นไปในแบบหนึ่ง ซึ่งจริงๆ งานมันอาจจะออกมาได้ดีกว่านี้ ถ้าเรากล้าพูดความคิดของเราออกไป การกล้าแสดงออกจึงสำคัญที่สุด” น้องภาตะวัน กุลจันทร์ หัวหน้าห้อง ห้อง 108 กล่าวด้วยความสนุกสนาน หลังจากจบกิจกรรมที่ตนได้ร่วม

เมื่อมองเห็นว่าละครเป็นสื่อในการพัฒนาทักษะที่อยู่นอกเหนือวิชาการที่ได้เรียนในชั้นเรียน นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้คุณครูกระมล จันทร์ตรี ครูที่ปรึกษาชุมชุมการละครโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พานักเรียนกลุ่มหัวหน้าห้องรองหัวหน้าห้องมาร่วมเรียนรู้การละครในครั้งนี้ คุณครูกล่าวว่า “พอคนพูดว่า การละคร เด็กส่วนใหญ่จะให้การตอบรับว่าต้องไปแสดง ไปเป็นบทบาทใดบทบาทหนึ่ง ซึ่งพอตนเองได้มาร่วมกิจกรรมกับทางคุณนินาท บุญโพธิ์ทองเองทำให้เราได้รู้ว่า ละคร สามารถช่วยพัฒนาตัวตนที่เป็นคาแรคเตอร์ของนักเรียนได้ เราจะเห็นว่ากว่าจะเป็นละครเรื่องหนึ่งเราต้องอาศัยทักษะการทำงานเป็นทีม และทุกคนจะมีคาแรคเตอร์ หรือบทบาทเป็นของตัวเอง ซึ่งก็เชื่อมโยงกลับไปในการทำงานในห้องเรียน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีหน้าที่ของตัวเองที่แตกต่างกันไป เด็กส่วนใหญ่มักจะมองว่าทำไมฉันต้องทำอันนั้นหรืออันนี้ แต่พวกเขาลืมไปว่าทุกหน้าที่นั้นสำคัญ มันรวมกันช่วยเหลือกันแล้วกลายเป็นผลงาน กิจกรรมนี้จะทำให้เขากลับคิดแล้วว่าทุกบทบาททุกหน้าที่สำคัญ ไม่ใช่สำคัญแค่พระเอก หรือนางเอกอย่างเดียวเท่านั้น ตัวประกอบต่างๆ หรือทีมเบื้องหลัง ต่างล้วนมีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน”

และถึงแม้ว่าเรื่องราวของน้องๆ หัวหน้าห้องชั้น ม. 1 เพิ่งเริ่มต้น แต่คุณนินาท บุญโพธิ์ทอง ผู้ที่ผลักดันกระบวนการละครในโรงเรียนต่างๆ ทั่วกรุงเทพมากว่า 10 ปีแล้ว คุณครูประไพ กลับไชย ครูที่ปรึกษาชมรม SL.Play จากโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ก็เล่าให้เราฟังถึงความประทับใจ จากการได้เห็นลูกศิษย์เรียนรู้และเติบโตมาจากรุ่นสู่รุ่น “ครูเห็นสิ่งที่เปลี่ยนไปของนักเรียนที่ร่วมกระบวนการละครอย่างต่อเนื่อง ทั้งความคิด คิดบวก ทั้งจิตใจที่เขาแสดงออกซึ่งความสุขที่ได้ทำละคร เขาได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ได้เป็นพี่เป็นน้อง ได้มิตรภาพ ได้เรียนรู้ ได้เติบโต ผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปด้วยกัน บางคนเจอครูครั้งแรกเป็นคนเสียงเบาๆ ไม่กล้าแสดงออก พอมาเล่นละคร ครูได้ยินเสียงเขา กล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น”

มีรุ่นที่ที่จบไปแล้วหลายๆ คน ก็กลับมาร่วมกันส่งไม้ต่อสู่รุ่นน้องดีมาก ดูแลแบ่งปัน และคอยช่วยงานละครของรุ่นน้อง เป็นจุดเล็กๆ เป็นสายใยแห่งความสัมพันธ์ที่มีการส่งต่อจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง แม้รุ่น ม.6 ที่วางแผนสอนน้อง ให้คำแนะนำต่างๆ นั้นคือสิ่งที่ครูคิดว่าเป็นผลที่ได้ เห็นได้ด้วยการกระทำ โดยที่คุณครูเป็นเพียงคนที่อำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนได้สนุกกับการเรียนรู้ เด็กๆ คิด วางแผนการทำละคร การสอนน้อง มานำเสนอกับครู ครูก็ให้คำแนะนำและคอยดู ให้คำปรึกษาอยู่ใกล้ๆ เสมอ”

สิ่งที่ครูภูมิใจที่สุดคงเป็นที่พี่ๆ สามารถสอนน้องในชมรมได้ น้องๆ เคารพพี่ตั้งใจเรียนรู้จากพี่ พี่ที่จบไปกลับมาดูแลน้องๆ  ละร่วมกันสร้างสิ่งดีๆ ที่ช่วยลดปัญหาทางสังคมได้” ครูประไพ กล่าว

นอกจาก ละคร จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะของเหล่าเยาวชนมากมายดั่งที่หลายคนกล่าวมาข้างต้น ละคร ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความฝันที่อยากเป็นนักเขียน ถึงแม้ว่าเส้นทางที่เลือกจะไม่ง่าย แต่ด้วยความมุ่งมั่นของ น็อต ชานน วุฒิเบญจพลชัย จึงได้มาเขียนบทและกำกับ ละครเวทีเรื่อง ยาคุโซกุ และ Dream Stage จาก AC Drama Club โรงเรียนอัสสัมชัญ “ตอนช่วงที่เราหาตัวเอง เราไม่รู้ว่าเราชอบอะไรกันแน่ จนเราไปดูหนังแล้วเราก็ชอบหนัง เลยตัดสินใจเข้าชมรมละครของโรงเรียน เลยเป็นที่มาของการเริ่มทำละคร จนได้มาเขียนบทและกำกับ”

“ตอนที่เราเริ่มมาทำละคร เราไม่คิดว่ามันจะยากขนาดนี้ สิ่งที่เราเจอคือการซ้อมทุกวัน ต้องเรียนด้วย ทุกคนเหนื่อยและเพลียมาก มีนักแสดงออกบ้าง เข้ามาใหม่บ้าง ไม่มาซ้อมบ้าง ทำให้การซ้อมไม่ต่อเนื่อง ด้วยความที่เป็นงานแรกๆ ของเรา ทำให้เรายังรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ไม่ดีพอ โมเมนต์ที่ชีวิตเฟลที่สุดก็ตอนทำ Dream Stage ด้วยความที่เราเขียนบทเสร็จก็กระชั้นเวลามาก แล้วก็ต้องลงกำกับต่อเลย มีทั้งฝ่ายออกแบบเครื่องแต่งกาย ทำโปสเตอร์ ซึ่งเขาต้องมาคุย Concept ร่วมกับคนเขียนบทและผู้กำกับด้วย แล้วเรายังไม่รู้ว่าเราต้องพูดยังไงบ้าง มันก็เลยเป็นปัญหา เป็นความรู้สึกว่ามันทำอะไรไม่ถูกเลย”

“สิ่งที่ทำให้เรากลับมาสู้ต่อก็คงเป็น ความรู้สึกที่เราไม่อยากยอมแพ้ และก็มีรุ่นพี่คนหนึ่งคอยบอกเราว่าทำดีแล้ว ทำต่อไป เราเห็นคนที่เขาทำงานหนัก เราก็ไม่อยากยอมแพ้ เราก็เลย Keep up มันต่อไป  จนละครเวทีเรื่องนี้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี”

น๊อต ชานน เองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เคยเป็นทั้งเด็กค่ายนี้ มาจนเป็นพี่ Staff และการมาค่าย ACT4HEALTH ในวันนี้ทำให้เราได้เห็นมุมมองที่เปลี่ยนไป “เราเห็นว่าค่ายนี้เหมือนเป็นที่เพาะต้นกล้า จากเมื่อก่อนที่เราเคยอยู่ตรงนั้น เคยเป็นพี่ Staff ในงานนั้น แต่วันนี้เราเป็นคนสังเกตุการณ์ เรารู้สึกได้ว่าน้องทุกคนเขามีพลังที่เขาอยากจะทำละคร ผมรู้สึกว่าค่ายนี้เป็นเหมือนพื้นที่เปิดให้พวกเขาได้ลองทำ ให้เขาได้พิสูจน์ตัวเอง ผมรู้สึกว่าค่ายนี้เป็นค่ายที่ดี เราไม่จำเป็นต้องบอกว่าการต่อต้านยาเสพติด หรืออะไรที่ดีต่อสุขภาพต้องเป็นการเล่นกีฬาเพียงอย่างเดียว ผมรู้สึกว่าละครเป็นพาร์ทหนึ่งที่น่าสนใจ ให้เราลองเลือก แล้วเราก็พบว่าน้องที่เลือกทางนี้แล้ว เราเห็นว่าน้องมีความคิดที่แตกต่างจากคนอื่นนะแล้วพร้อมจะสู้กับมันอย่างเต็มที่”

“ลึกๆ แล้วละครได้สอนเราให้เป็นผู้ใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทของกระบวนการต้องทำงานกับคนหมู่มาก เราต้องคุยกัน เราต้องเจรจาต่อรอง เราต้องคุยกันว่าเราต้องการอะไรเราต้องตัดสินใจเพื่อเลือกสิ่งนั้นจริงๆ และก็การเรียนรู้คน ปกติถ้าเกิดมีเรื่องราว เราก็อาจจะตัดสินคนๆ หนึ่งไปเลยในทันที แต่สิ่งที่เราไม่ได้มองจริงๆ ว่า ทั้งสองฝั่งนั้นเขาคิดยังไง คนนั้นเขาเป็นอย่างไร คนนี้เขาเป็นอย่างไร ผมรู้สึกว่าละครทำให้เรามองเห็นในจุดนี้ เราเป็นตัวละคร เราต้องรู้ว่าทำไมตัวนี้ถึงคิดแบบนี้  ขณะเดียวกันเราก็ต้องเรียนรู้ตัวละครอื่นด้วย ช่วยสร้างมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นสำหรับเรา” น๊อตกล่าวทิ้งท้าย

ท้ายที่สุด ถึงแม้ว่าเป้าหมายในการมาร่วมกิจกรรมละครกับโครงการ ACT4HEALTH นี้ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนเดินทางมาร่วมด้วยการอยากมาเจอเพื่อน มาพบสังคมใหม่ๆ มาทำสิ่งที่ท้าทาย มาเรียนรู้ มาพัฒนาตัวเอง บางคนเดินทางมาเพื่อค้นหาความฝัน สิ่งสำคัญที่เป็นความเชื่อของโครงการในครั้งนี้ คือ การแลกเปลี่ยน มาเรียนรู้กันและกัน เรียนรู้ความต่างของแต่ละโรงเรียน แต่ละบริบท รวมถึงร่วมแบ่งปันความฝัน อย่างที่คุณนินาท บุญโพธิ์ทอง ได้กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “เราคิดว่าพื้นฐานของการละคร คือ การแลกเปลี่ยน เหมือนโมเดลในการเรียนรู้ เราเรียน เราเข้าใจ เราทำ พอทำแล้ว ผลของการทำ ทำให้เกิดความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้ที่ได้ก็จะทำให้เกิดการต่อยอดไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าสิ่งนี้คือการศึกษาที่ไม่มีที่สิ้นสุด เพียงแต่ว่า ตอนคุณอยู่มัธยม คุณศึกษาอะไร คุณอยู่มหาวิทยาลัย คุณศึกษาอะไร สองสิ่งนี้พอได้เชื่อมกันไปมา ทำให้เราได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น”

“จากจุดเริ่มต้นของการทำละครเอง ทำละครสู่เด็กเยาวชน และพบว่าเด็กๆ ก็มีประกายที่อยากจะทำละครเหมือนกันนะ จึงนำมาสู่การทำละครร่วมกัน แล้วเราก็ได้พลังที่พิเศษมากจากการเรียนรู้นี้ด้วยเหมือนกัน” นินาท บุญโพธิ์ทอง กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำละครร่วมกับเยาวชน

>> ย้อนอ่าน "ACT4HEALTH" เมื่อละครเป็นมากกว่าการแสดง ตอนที่ 1

MORE READ
COMMENT