รายงานภาพรวมศิลปะการแสดงไทย ปี 2024 เติบโตท่ามกลางความท้าทายของศิลปินรายย่อย

รายงานภาพรวมศิลปะการแสดงไทย ปี 2024 เติบโตท่ามกลางความท้าทายของศิลปินรายย่อย

Content Creator ที่บริหาร Project Innovations และเป็นกระบวนกรได้นิดหน่อย

Data Echooo (ดาต้าเอ็คโค) สื่อที่นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับ DATA และ AI ในบริบทธุรกิจ ร่วมกับ WISESIGHT ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและกระแสสังคม ได้ร่วมกันจัดทำ ‘Thailand Performing Art Report 2024’ ฉบับล่าสุด เพื่อฉายภาพและประเมินศักยภาพของวงการศิลปะการแสดงของประเทศไทยในปัจจุบัน

Thailand Performing Art Report 2024

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตที่น่าสนใจของวงการการแสดง โดยเฉพาะละครเวที ซึ่งในปี 2024 มีจำนวนการแสดงเพิ่มขึ้นเป็น 342 เรื่อง จาก 279 เรื่อง ในปี 2023 และจำนวนรอบการแสดงที่เพิ่มขึ้นจาก 1,122 รอบ เป็น 1,440 รอบ ประเภทการแสดงที่จัดขึ้นมากที่สุดคือ ละครพูด ซึ่งส่วนใหญ่มีการแสดงเพียง 1-2 รอบต่อเรื่อง เดือนที่มีการแสดงหนาแน่นที่สุดคือ พฤศจิกายน โดยเฉพาะวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่มีการแสดงถึง 29 เรื่อง รวม 36 รอบ

การแสดงที่มีจำนวนรอบมากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล จากค่ายซีเนริโอ (77 รอบ), โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอนพระจักราวตาร (37 รอบ) และ Immersive Science Drama เรื่อง “ความลับสุริยัน ตอน ความหวังสีน้ำเงิน” โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (36 รอบ)

Thailand Performing Art 2024 Report

การเติบโตของวงการศิลปะการแสดงในปีที่ผ่านมามีความโดดเด่นอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการแสดง อย่าง งานเทศกาลละครเวทีกรุงเทพ อีกทั้งการแสดงส่วนใหญ่มักจัดขึ้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยรอบการแสดงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ 19:00 น. รูปแบบการแสดงหลักยังคงเป็น ละครพูด และแพลตฟอร์มที่ผู้จัดส่วนใหญ่นิยมใช้ในการจำหน่ายบัตรคือ Google Forms เนื่องจากปัจจัยทางด้านต้นทุน

ปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการจัดงานศิลปะการแสดงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ สถาบันการศึกษาและการคมนาคมในพื้นที่ แม้ว่าจำนวนการแสดงจะเพิ่มขึ้น แต่สถานที่จัดแสดงยอดนิยมยังคงกระจุกตัวอยู่ตามแนวรถไฟฟ้า เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, TK Park, หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์, Galileoasis และ RCB Forum ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นพื้นที่จัดแสดง เช่น ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงละครแบล็กบอกซ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, MUPAC-M (Music Hall) มหาวิทยาลัยบูรพา และโรงละคร ชั้น 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันการศึกษาในการสนับสนุนวงการศิลปะการแสดง

อย่างไรก็ตาม รายงานยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญ นั่นคือ ต้นทุนการผลิตที่สูงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ต่ำ กระบวนการสร้างสรรค์การแสดงหนึ่งเรื่องต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งค่าเช่าสถานที่ซ้อมและจัดแสดง ค่าตัวนักแสดง ค่าเดินทาง ค่าบริหารจัดการ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นต้นทุนของศิลปิน แม้ว่า 78.1% ของการแสดงจะมีการเก็บค่าบัตร แต่ราคาจำหน่ายส่วนใหญ่นั้นอยู่ในช่วง 201–400 บาท และมีการแสดงมากกว่า 21% ที่เปิดให้ชมฟรีหรือตามแต่จะบริจาค แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของศิลปินในการเข้าถึงผู้ชมกลุ่มใหม่ ๆ แต่ด้วยข้อจำกัดของขนาดสถานที่จัดแสดง ทำให้แม้จะขายบัตรได้หมดก็ยังไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพจากการแสดงเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ศิลปินที่ต้องการจัดแสดงในสถานที่ขนาดใหญ่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการบริหารจัดการและการประชาสัมพันธ์ ทำให้ศิลปินส่วนใหญ่ยังคงต้องอาศัยเงินทุนส่วนตัวและมีอาชีพอื่นเป็นหลัก

Thailand Performing Art 2024 Report

งานเทศกาลละครเวทีกรุงเทพ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของการแสดงในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 ที่มีการแสดงมากถึง 36 รอบ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของปีและช่วยเปิดพื้นที่ให้กับละครเวทีนอกกระแสมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งปี ศิลปินและค่ายเล็กยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบากในการสร้างความยั่งยืน

บทวิเคราะห์

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาด้าน Branding การสร้างความเชื่อมั่น และการสื่อสาร ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ท้าทายศิลปินและค่ายเล็ก ถึงแม้ว่าการสื่อสารออนไลน์ส่วนใหญ่จะเป็นของค่ายใหญ่ แต่ก็มีละครเวทีนอกกระแส อย่าง 2475 ที่สามารถสร้างพื้นที่ของตนเองได้ สิ่งสำคัญคือ ผู้ชมมักตัดสินใจเลือกชมการแสดงจากความเชื่อมั่นในคุณภาพของค่ายละคร นักแสดงที่ติดตาม หรือคำวิจารณ์ ทำให้ค่ายเล็กหรือศิลปินทั่วไปยังคงต้องดิ้นรนในการเข้าถึงกลุ่มผู้ชมในโลกที่มีการแข่งขันด้านเนื้อหาสูง การค้นพบกลุ่มผู้ชมที่ใช่และการทำงานร่วมกับพวกเขาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ศิลปินสามารถพัฒนามุมมองและปรับปรุงการแสดงให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในด้านโอกาสที่น่าสนใจ คือการเพิ่มขึ้นของผู้เล่นรายใหม่ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ทำให้เกิด Space ใหม่ ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งอาจช่วยลดต้นทุนในการพัฒนาการแสดง การสนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมพื้นที่การเรียนรู้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับศิลปินหน้าใหม่ในการพัฒนาตนเองและสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลาย รวมถึงมีโอกาสในการแสดงมากขึ้นและใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น การสนับสนุนจากภาครัฐในด้านการให้ความรู้ การส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์ การพัฒนา Community และสิทธิทางภาษีสำหรับธุรกิจที่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินสร้างสรรค์นั้นจะเป็นประโยชน์อย่างมาก 

นโยบายที่น่าสนใจ จากการส่งเสริม Soft Power ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เช่น การสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ การส่งเสริมโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก และการสนับสนุนการทำหนังสั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้สร้างภาพยนตร์และการเรียนรู้จากผู้ชม สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการส่งเสริมศิลปะการแสดงได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป คือเรื่องการพิจารณาอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพฯ เช่นเดียวกันกับกรณีของ Doc Club and Pub ก็ยังเป็นประเด็นที่น่าติดตาม

โดยสรุป รายงาน Thailand Performing Art Report 2024 ฉบับนี้ได้ฉายภาพที่ชัดเจนของวงการศิลปะการแสดงในปัจจุบันซึ่งมีการเติบโตที่น่าจับตามอง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความท้าทายที่ศิลปินและผู้สร้างสรรค์ต้องเผชิญ ข้อมูลที่ได้รับการรวบรวมเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำความเข้าใจโอกาสและศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในการเป็นส่วนหนึ่งของ Creative Economy ที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้วงการศิลปะการแสดงของไทยเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน

อ้างอิง