เปิดผลสำรวจจาก สยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ในประเด็น 'ของขวัญวันเด็กที่พ่อแม่อยากได้จากรัฐบาลให้ลูก'

สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "ของขวัญวันเด็กที่พ่อแม่อยากได้จากรัฐบาลให้ลูก" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3–10 มกราคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีบุตรอายุแรกเกิดถึง 15 ปี ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,330 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับของขวัญวันเด็กที่พ่อแม่อยากได้จากรัฐบาลให้ลูก การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "สยามเทคโนโพล" สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และโปรแกรม Google Form โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 95.00

จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป มีบุตรอายุแรกเกิดถึง 15 ปี ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เกี่ยวกับของขวัญวันเด็กที่พ่อแม่อยากได้จากรัฐบาลให้ลูก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 26.39 ระบุว่า อยากได้ของขวัญวันเด็กจากรัฐบาลเป็นสวัสดิการของรัฐที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็ก มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 18.42 ระบุว่า อยากได้ของขวัญวันเด็กจากรัฐบาลเป็นการแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำทางการศึกษา ร้อยละ 10.83 ระบุว่า อยากได้ของขวัญวันเด็กจากรัฐบาลเป็นการสนับสนุนสวัสดิการด้านการศึกษาจากรัฐบาล ร้อยละ 9.92 ระบุว่า อยากได้ของขวัญวันเด็กจากรัฐบาลเป็นการเข้าถึงบริการภาครัฐของเด็ก ร้อยละ 9.32 ระบุว่า อยากได้ของขวัญวันเด็กจากรัฐบาลเป็นครูที่มีคุณภาพ ร้อยละ 8.35 ระบุว่า อยากได้ของขวัญวันเด็กจากรัฐบาลเป็นการแก้ปัญหาสภาพอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ร้อยละ 7.45 ระบุว่า อยากได้ของขวัญวันเด็กจากรัฐบาลเป็นการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและความเครียดของเด็ก ร้อยละ 5.79 ระบุว่า อยากได้ของขวัญวันเด็กจากรัฐบาลเป็นการเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้กับเด็ก และร้อยละ 3.53 ระบุว่า ไม่แสดงความคิดเห็น

ท้ายที่สุดเมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป มีบุตรอายุแรกเกิดถึง 15 ปี ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เกี่ยวกับความคิดเห็นของพ่อแม่ที่อยากให้รัฐบาลออกนโยบายปกป้องดูแลช่วยเหลือเด็ก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 19.85 ระบุว่า อยากให้รัฐบาลออกนโยบายปกป้องดูแลช่วยเหลือเด็กด้านการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 14.66 ระบุว่า อยากให้รัฐบาลออกนโยบายปกป้องดูแลช่วยเหลือเด็กด้านการกระทำความรุนแรงทางร่างกาย ร้อยละ 13.76 ระบุว่า อยากให้รัฐบาลออกนโยบายปกป้องดูแลช่วยเหลือเด็กด้านการกระทำความรุนแรงทางอารมณ์ ร้อยละ 13.31 ระบุว่า อยากให้รัฐบาลออกนโยบายปกป้องดูแลช่วยเหลือเด็กด้านการกระทำความรุนแรงทางเพศ ร้อยละ 12.33 ระบุว่า อยากให้รัฐบาลออกนโยบายปกป้องดูแลช่วยเหลือเด็กด้านการปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง ร้อยละ 11.73 ระบุว่า อยากให้รัฐบาลออกนโยบายปกป้องดูแลช่วยเหลือเด็กด้านการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ร้อยละ 10.75 ระบุว่า อยากให้รัฐบาลออกนโยบายปกป้องดูแลช่วยเหลือเด็กด้านการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากเด็ก และ ร้อยละ 3.61 ระบุว่า ไม่แสดงความคิดเห็น

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 9.33 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 18.42 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.89 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.08 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.61 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.67 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 47.74 เป็นเพศชาย และร้อยละ 52.26 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 18.95 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 23.68 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 24.89 อายุ 36-45 ปี และร้อยละ 32.48 อายุ 46 ปี ขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 94.59 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.38 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 2.03 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ ตัวอย่าง ร้อยละ 42.93 มีบุตรจำนวน 1 คน ร้อยละ 48.50 มีบุตร จำนวน 2 คน ร้อยละ 6.84 มีบุตร จำนวน 3 คน และ ร้อยละ 1.73 มีบุตร จำนวน 4 คน ขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 88.80 สถานภาพสมรส และร้อยละ 11.20 สถานภาพหม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 17.97จบการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 42.78 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.12 จบการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.99 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.14 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 9.85 มีอาชีพหลักข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.56 มีอาชีพหลักพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.65 มีอาชีพหลักเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.81 มีอาชีพหลักเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 18.42 มีอาชีพหลักรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน และร้อยละ 22.71 มีอาชีพหลักพ่อบ้าน/แม่บ้าน/ว่างงาน

ตัวอย่าง ร้อยละ 21.51 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.93 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 27.22 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.17 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 5.26 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน30,001-40,000 บาท ร้อยละ 3.91 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.00 ไม่ระบุรายได้

สำหรับความเห็นของ ผศ.ดร. สุดาภรณ์ กิจกุลนำชัย นักวิชาการด้านการจัดการภาครัฐ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ได้ให้ความเห็นในกรณีสวัสดิการของรัฐที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กว่า "เด็กไม่ใช่แค่เพียงมนุษย์ตัวจิ๋วที่จะเติบโตไปตามกาลเวลาเท่านั้น แต่เขาคือบุคลากรที่สำคัญของประเทศที่ต้องได้รับการดูแล ให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับยุคสมัย โดยเฉพาะ การเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่เด็กสมควรได้รับเพื่อการเติบโตเป็นเยาวชนที่มีคุณค่า บนพื้นฐานของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง" ซึ่ง ตามอนุสัญญาสิทธิเด็กข้อที่ 26 ระบุว่า "รัฐควรให้ความช่วยเหลือ ทั้งทางการเงิน และด้านอื่น ๆ แก่เด็กที่ครอบครัวยากจน" ดังนั้น จึงมีเสียงสะท้อนของประชาชนที่ขอฝากคำถามถึงรัฐบาลท่านเศรษฐา ว่า 1) รัฐบาลนี้ มีสวัสดิการรัฐที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กได้เพียงพอจริงหรือ ? 2) รัฐบาลมีมาตรการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐของเด็กๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ? และ 3) "นโยบายการแก้ไขปัญหา ตั้งครรภ์ ไม่พร้อม" ในยุคปัจจุบัน สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ ?

วันเด็กแห่งชาติ 2567

MORE READ